หน้าแรกเข้าสู่ระบบเพื่อให้ความ
เห็นหรือสร้าง Blog ของคุณค้นหาตามเงื่อนไขDownload คู่มือการใช้งานติดต่อเรา

  เรื่อง หญ้าแฝกกับดินดาน  
  สร้างโดย : charuphan  
  สร้างเมื่อ : 19 ตุลาคม 2555   เวลา 15:15 น.   แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 19 ตุลาคม 2555   เวลา 15:19 น.      
  หมวดหมู่ : ด้านหญ้าแฝก  จำนวนผู้เข้าชม : 2998  
     
   
     
            เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า หญ้าแฝกนั้นเป็นพืชมหัศจรรย์ คือ เป็นพืชที่มีระบบรากฝอยแผ่กระจายจำนวนมากและสามารถหยั่งลึกลงไปในดินในบางพื้นที่ยาวถึง 3 เมตร และบางสายพันธุ์สามารถเจริญเติบโตได้ในดินที่มีปัญหาทั้งดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น หญ้าแฝกจึงเป็นพืชที่มีผู้สนใจนำมาศึกษา โดยคาดหวังว่าการชอนไชของรากหญ้าแฝกนั้น จะช่วยทำลายชั้นดานหรือสภาพดินแน่นได้ ทั้งนี้ เนื่องจากชั้นดานนั้นเป็นข้อจำกัดในการเจริญเติบโตของรากพืชทำให้รากพืชไม่สามารถชอนไชลงไปในดินได้สะดวก

จากข้อจำกัดข้างต้นการปลูกหญ้าแฝกหรือพืชใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวในระยะแรกจึงจำเป็นต้องมีวิธีการที่ช่วยส่งเสริมให้รากสามารถเจริญเติบโตและชอนไชไปในดินที่มีลักษณะเป็นดานแข็งซึ่งมีวิธีการดังนี้ ใช้เครื่องเจาะดินเจาะนำลงไปก่อน ควรปรับปรุงดินก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก จากนั้นนำหญ้าแฝกมาปลูก เมื่อหญ้าแฝกตั้งตัวได้รากหญ้าแฝกสามารถชอนไชชั้นดานลงไปได้ลึกถึง 19-36 เซนติเมตรจากผิวดินและน้ำฝนสามารถไหลซึมลงในดินได้ลึกประมาณ13-15 เซนติเมตร (พรกมล และคณะ) เมื่อดินได้รับความชื้นและถูกชอนไชด้วยรากหญ้าแฝกจึงทำให้ดินเกิดการแตกตัวร่วนซุย มีการเกาะตัวเป็นเม็ดดินทำให้โครงสร้างดินดีขึ้นมีช่องว่างสำหรับอากาศและน้ำเพิ่มมากขึ้น และเศษรากพืชบางส่วนที่ตายสะสมในดินช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน

          จากการศึกษาของวรรณลดาและคณะ (2543) พบว่าปริมาณอินทรียวัตถุในดินที่ปลูกหญ้าแฝกเพิ่มขึ้นจาก 0.49 เป็น 0.75 เปอร์เซ็นต์ อินทรียวัตถุเหล่านี้เมื่อถูกสิ่งมีชีวิตในดินย่อยสลาย จะปลดปล่อยธาตุอาหารในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ซึ่งจะทดแทนปุ๋ยเคมีได้ ดังนี้ หญ้าแฝกลุ่มให้ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมเทียบเท่ากับการใช้ปุ๋ยยูเรีย 28.38 กิโลกรัม ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต 6.6 กิโลกรัม และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ 33.65 กิโลกรัม หญ้าแฝกดอนให้ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม เทียบเท่ากับการใช้ปุ๋ยยูเรีย 1.98 กิโลกรัม ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต 3.3 กิโลกรัม และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ 28.59 กิโลกรัม ใกล้เคียงกับปุ๋ยพืชสดหรือหากใช้ร่วมกันจะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

          ที่มา : กมลาภา วัฒนประพัฒน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในการจัดการดิน สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
http://www.ldd.go.th/flddwebsite/web_ord/ordmain/km.html
 
     
     
  คำสำคัญ (Keyword) : หญ้าแฝก , ดินดาน  
     
 
Rating : 4.75
 
     
 
ความเห็นที่ 1
 อยากให้เพิ่มภาพประกอบในบทความนี้ด้วยค่ะ
โดย rujirat (30 ตุลาคม 2555 10:04 น.)

ความเห็นที่ 2
 เสริมเพิ่มเติม สำหรับบุคคลภายนอก ปัจจุบันกรมมีให้บริการแจกจ่ายพันธุ์หญ้าแฝกเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ดินและน้ำ สามารถติดต่อได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินประจำจังหวัดค่ะ
โดย Nutnicha (20 มกราคม 2556 17:00 น.)

ความเห็นที่ 3
 ขอเสริมว่า แฝกมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะเหมาะกับพื้นที่แตกต่างกัน จึงควรศึกษาเพิ่มว่าพื้นที่ที่จะปลูกนั้น เป็นพื้นที่แบบใด เหมาะกับแฝกชนิดไหน เพื่อจะได้เลือกใช้ให้เหมาะสมค่ะ
โดย Nitchapn (20 มกราคม 2556 22:12 น.)

 
     
  ต้อง Login ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้  
  เข้าหน้าหลักเพื่อสร้างบล็อกของคุณ (ต้อง Log In เข้าสู่ระบบก่อน)