หน้าแรกเข้าสู่ระบบเพื่อให้ความ
เห็นหรือสร้าง Blog ของคุณค้นหาตามเงื่อนไขDownload คู่มือการใช้งานติดต่อเรา

  เรื่อง บทบาทหญ้าแฝกในการกักเก็บคาร์บอนลงดิน  
  สร้างโดย : charuphan  
  สร้างเมื่อ : 19 ตุลาคม 2555   เวลา 14:14 น.   แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 19 ตุลาคม 2555   เวลา 15:19 น.      
  หมวดหมู่ : ด้านหญ้าแฝก  จำนวนผู้เข้าชม : 3608  
     
   
     
            การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน มีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ภาคอุตสาหกรรมซึ่งผลิตเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งได้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากออกมาทำลายชั้น โอโซนและปิดกั้นรังสีความร้อนต่างๆ ไม่ให้สะท้อนออกไปสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ความร้อนจึงสะสมอยู่บนโลก

แนวทางการแก้ไขสาเหตุที่ตรงที่สุดคือการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งต้องลดกำลัง
การผลิตจากภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์เป็นอย่างมากจึงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ ทำให้แนวความคิดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ จากนั้นได้มีผู้เสนอแนวทางการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกบางชนิดโดยการดึงมา กักเก็บไว้ในดิน น้ำ และพืช เพื่อเป็นการชดเชยแทนที่จะปล่อยสู่บรรยากาศ วิธีการดำเนินการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อให้เกิดกระบวนการดึงดูดและกักเก็บ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศสู่ต้นพืชและสู่ดินในรูปของอินทรียวัตถุ เป็นต้น

          หญ้าแฝกนอกจากจะมีบทบาทในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ประเด็นสำคัญที่จะกล่าวถึงคือ การเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดินอย่างต่อเนื่อง จากการที่หญ้าแฝกมีการแตกกอจำนวนมากและมีระบบรากที่มหาศาลกระจายอยู่ในดิน จึงเป็นพืชหนึ่งที่น่าสนใจนำมาใช้ในการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศสู่ดิน หรืออีกนัยหนึ่งคือการกักเก็บคาร์บอนจากบรรยากาศสู่ดินนั่นเอง ดินเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ ปริมาณคาร์บอนในดินมีมากประมาณ 3 เท่าของคาร์บอนที่มีในพืช การกักเก็บคาร์บอนในดินทำได้โดยอาศัยพืชเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากบรรยากาศ โดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง ให้กลายเป็นคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโครงสร้างของพืชหรืออินทรีย์คาร์บอนในพืช หากสามารถนำส่วนต่างๆ ของพืชเหล่านี้กลับลงดินและกักเก็บในดินไว้ได้นานก็จะเป็นการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินได้มาก (พิทยากร, 2554)

สำหรับหญ้าแฝกก็เช่นเดียวกันมีการดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้กลายเป็นอินทรีย์คาร์บอนกักเก็บไว้ที่ต้น ใบและรากโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง และสะสมคาร์บอนในรูปของมวลชีวภาพเมื่อตัดใบหญ้าแฝกคลุมดิน และรากจำนวนมหาศาลที่อยู่ในดินเมื่อตายจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุแก่ดิน จากการประเมินมวลชีวภาพของหญ้าแฝกมีค่าเฉลี่ยจากต้นและใบ (ส่วนเหนือดิน) 48.51 กรัมต่อต้น และค่าเฉลี่ยของราก (ส่วนใต้ดิน) 48.39 กรัมต่อต้น (ค่าเฉลี่ยมวลชีวภาพทั้งหมด 96.90 กรัมต่อต้น) เมื่อคำนวณเป็นการสะสมคาร์บอนส่วนเหนือดินของหญ้าแฝก 21.64 กรัม-คาร์บอนต่อต้น และส่วนใต้ดิน 18.24 กรัม-คาร์บอนต่อต้น จากข้อมูลดังกล่าวเมื่อปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวน 1-2 แถว ในพื้นที่ 1 ไร่ จำเป็นต้องใช้กล้าหญ้าแฝกประมาณ 400-800 กล้า หากหญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตดีหญ้าแฝกจำนวนดังกล่าวจะสะสมคาร์บอนทั้งในส่วนต้นและรากรวมทั้งหมด 16.16-32.30 กรัม-คาร์บอนต่อไร่

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่าการปลูกหญ้าแฝกมีส่วนสำคัญในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ แล้วสะสมในส่วนของต้นหญ้าแฝกแล้วกักเก็บลงสู่ดิน ถึงแม้จะไม่มากมายแต่ก็เกิดอย่างต่อเนื่องหากมีการปลูกหญ้าแฝกอย่างแพร่หลายก็สามารถช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

          ที่มา : สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน
http://www.ldd.go.th/flddwebsite/web_ord/ordmain/km.html
 
     
     
  คำสำคัญ (Keyword) : หญ้าแฝก , อนุรักษ์ดินและน้ำ , คาร์บอน  
     
 
Rating : 4.00
 
     
 
ความเห็นที่ 1
 ปัจจุบัน กรมพัฒนาทีดินมีการรวบรวมที่ตั้งโครงการปลูกหญ้าแฝกมาแสดงในรูปแผนที่ออนไลน์ สามารถดูได้ที่ http://eis.ldd.go.th/lddeis/VGT.aspx
โดย Nutnicha (20 มกราคม 2556 17:03 น.)

ความเห็นที่ 2
 อยากรู้ต่อไปว่า การสะสมคาร์บอนในดิน มีผลดีและผลเสียอย่างไรในระยะยาว เพราะทราบว่าการปลูกพืชบางอย่างที่ดูดสารพิษในดินขึ้นมา พืชนั้นจะเป็นพิษ กรณีนี้ไม่รู้ว่ามีผลอะไรบ้าง
โดย Kanokwan (20 มกราคม 2556 19:08 น.)

 
     
  ต้อง Login ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้  
  เข้าหน้าหลักเพื่อสร้างบล็อกของคุณ (ต้อง Log In เข้าสู่ระบบก่อน)