หน้าแรกเข้าสู่ระบบเพื่อให้ความ
เห็นหรือสร้าง Blog ของคุณค้นหาตามเงื่อนไขDownload คู่มือการใช้งานติดต่อเรา

  เรื่อง Crowdsourcing  
  สร้างโดย : rujirat  
  สร้างเมื่อ : 19 ตุลาคม 2555   เวลา 11:46 น.   แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 20 กุมภาพันธ์ 2557   เวลา 09:03 น.      
  หมวดหมู่ : ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  จำนวนผู้เข้าชม : 3242  
     
   
     
             วันก่อนได้อ่านบทความสั้นๆ เรื่อง Crowdsource คำฮิตปี 2009 จากหนังสือ LIVE & LEARN : edutainment essay ที่เป็นหนังสือในชุด reference experience library เขียนโดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในการให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อสังคม อ่านบทความนี้จบแล้ว คิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจที่จะนำมาสรุป ค้นคว้าเพิ่มเติมและนำมาแบ่งปันให้คนอื่นรู้จัก Crowdsource มากขึ้น

รศ.ดร.วรากรณ์ ได้เกริ่นถึงสื่อของสหรัฐอเมริกาคือ หนังสือพิมพ์ International Herald Tribune ซึ่งระบุว่า Crowdsource เป็นคำกริยาสุดฮิตประจำปี 2009 โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมในหนังสือว่า "เป็นคำที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและอธิบายการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางเศรษฐกิจและสังคม"

Crowdsource (หรือ Crowdsourcing ใช้ตัวย่อว่า CS ยังได้รับการประเมินว่าเป็นหนึ่งในสิบของแนวโน้ม เทคโนโลยีด้านการลงทุน (Investor Technology Trends) ในปี 2011 ติดอันดับของแนวโน้มด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลต่อการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงานต่างๆ

ลักษณะของ Crowdsourcing คล้ายกับ Outsource ที่เป็นการให้คนนอกองค์กร รับงานบางอย่างไปทำแทนคนภายในองค์กร มีข้อแตกต่างตรงผู้รับงาน เป็นกลุ่มหรือชุมชน (Crowd) ทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า "สมรรถนะส่วนเกินของบุคคล" ซึ่งหมายถึง เวลานอกเหนือจากงานประจำ Crowdsourcing มีทั้งแบบที่เป็นงานอาสาสมัคร หรืองานที่ให้ผลตอบแทน ทั้งที่อยู่ในรูปของเงิน รางวัลหรือชื่อเสียง Crowdsourcing มีความเชื่อว่า "หลายหัวดีกว่าหัวเดียว" หมายถึง คนกลุ่มใหญ่ย่อมมีความรู้มากกว่าคนคนเดียว โดยมีเคล็ดลับที่การสร้างเงื่อนไขหรือแรงจูงใจ เพื่อสนับสนุนให้คนในกลุ่มแสดงความรู้ที่ตนมีออกมาสู่สาธารณะ

แนวทาง Crowdsourcing ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวางผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสอดคล้องกับรูปแบบความร่วมมือภายใต้เทคโนโลยี Web 2.0 ที่สนับสนุนการร่วมมือจากหลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันพัฒนาหรือแบ่งปันข้อมูล ความคิด แนวทางการออกแบบต่างๆ โดยนิยมกระจายงานไปสู่กลุ่มคนผ่านทางเว็บหรือสังคมออนไลน์ ทั้งที่เป็นกลุ่มคนทั่วไปหรือกลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะด้าน มีการนำไปใช้ทั้งในวงการธุรกิจ นักเขียน ธุรกิจไอที การสื่อสาร ฯลฯ อย่างแพร่หลาย

           ตัวอย่างการนำ Crowdsourcing มาใช้แล้วประสบความสำเร็จมีหลากหลายสาขา วิกิพีเดีย (WIKIPEDIA) นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ของการใช้ Crowdsourcing ในกลุ่มคนที่มีความสนใจ หลากหลายที่คนส่วนใหญ่รู้จักจากเดิมที่ วิกิพีเดีย มีเพียง 10 บทความ เมื่อได้นำแนวทางของ Crowdsourcing มาใช้ เปิดโอกาสให้อาสาสมัครทั่วโลกช่วยกันเขียน ปรับปรุงและพัฒนาบทความ กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถให้บริการข้อมูลหลากหลายสาขา ในภาษาต่างๆ เพียงผู้ใช้ค้นคำที่ต้องการ โดยในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 วิกิพีเดียมีบทความภาษาอังกฤษกว่า 4 ล้านชิ้น บทความรวมทุกภาษา 27.7 ล้านชิ้น และมีผู้ร่วมพัฒนาบทความกว่า 16.7 ล้านคน นอกจากนี้ Crowdsourcing ยังนำมาใช้ในการทำประชาพิจารณ์ การตรวจสอบความโปร่งใสในเอกสารการเบิกเงินของนักการเมือง โครงการจัดทำดัชนีดิจิตอลของเอกสารประวัติศาสตร์กว่า 2.4 ล้านชิ้นในโครงการ Family Search Indexing โดยอาสาสมัครอีกด้วย

ตัวอย่างอื่นที่ใกล้ตัวคือ ในด้านธุรกิจ นอกเหนือไปจากการใช้ Crowdsourcing ในการพัฒนาสินค้าต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์ ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยจูงใจให้ผู้สนใจสินค้า มาร่วมให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ Crowdsourcing ยังได้รับการประเมินว่าอาจเป็นแนวทางของงานบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management)และช่วยสนับสนุนการสอบถามรายละเอียดทางเทคนิค (IT Support) ซึ่งผู้ใช้จะสอบถามแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากกลุ่มเพื่อนในเครือข่ายที่เกิดจากการผสมผสานความร่วมมือทางสังคม โครงข่ายลูกค้าและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารเคลื่อนที่ และจะทำให้ระบบ Help Desk หายไป ดังจะเห็นได้จาก ใน Facebook ของบริษัทสินค้า ลูกค้าที่สนใจ สามารถโพสต์ถามไถ่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ "ใครลองใช้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง" "ซื้อได้ที่ไหนถูก" ไปจนถึงเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นที่ใกล้เคียงกัน

ในบางกรณี มีการทำ Crowdsourcing ที่จำกัดกลุ่มผู้เข้าร่วมเฉพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีความสนใจเฉพาะด้าน ตัวอย่างที่น่าสนใจของ Crowdsourcing ลักษณะนี้คือ โครงการ Clickworkers ขององค์การ NASA ที่มีอาสาสมัครหลายพันคนที่เป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่น มาช่วยกันทำงานผ่านโปรแกรม Clickworkers บนระบบ Online เสร็จได้ภายใน 1 เดือน (จากที่เคยทดสอบทำโดยผู้เชี่ยวชาญ 2 คน ใช้เวลา 2 ปีจึงจะแล้วเสร็จ) ผลงานที่ได้ มีความถูกต้องในระดับใกล้เคียงกับมืออาชีพ โดย 37% ของโครงการเป็นผลงานของอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยงานเพียงแค่ครั้งเดียว แนวคิดของโครงการนี้คือ แบ่งงานออกเป็นหน่วยเล็ก ๆ ที่แยกจากกันโดยเด็ดขาด เพื่อแจกจ่ายงานเหล่านั้นให้แก่เครือข่ายชุมชนนักดาราศาสตร์โดยไม่มีการจำกัดจำนวนของผู้ที่ต้องการเข้ามาร่วมงาน อาศัยหลักการการใช้ประโยชน์จากคนที่มีเวลาว่างจากภาระประจำเพียงแค่ไม่กี่นาทีให้มาช่วยกันทำงานตามหลักการ Crowdsourcing

           สำหรับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แนวทางของ Crowdsourcing นำมาใช้ในการแข่งขัน Test Bug Battle ที่แข่งค้นหาช่องโหว่ (Bug) ของซอฟต์แวร์ในโปรแกรมสำเร็จรูปอย่าง Google Chrome, Internet Explorer หรือ Mozilla Firefox รวมไปถึงการหา Bug ของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่าง Facebook ที่มีสถิตินักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าร่วมแข่งขันนับพันคนในปี 2008 นอกจากนี้ เว็บไซต์บัญชีออนไลน์อย่าง Paypal เลือกสร้างแรงจูงใจโดย "จ่ายค่าหัว" (Bounty) ให้กับผู้ที่เจอ Bug ในเว็บไซต์ที่ยังไม่มีใครพบ โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนก่อน

ประเทศไทย มักพบการใช้ Crowdsourcing ในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร หรือกิจกรรมอาสาสมัครได้ทั่วไป เห็นได้ชัดจากการใช้ Social Network ทั้ง Facebook หรือเว็บไซต์สังคมออนไลน์อย่าง Pantip.com เพื่อติดตามและบอกเล่าข่าวสาร ตลอดจนรับสมัครจิตอาสาเพื่อช่วยจัดการงานต่างๆ ในช่วงมหาอุทกภัยปี 2554 อีกตัวอย่างที่น่าสนใจเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ Crowdsourcing กลายเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราทำบุญได้ง่ายขึ้นผ่านหน้าจอคือ โครงการจัดทำหนังสืออักษรเบรลสำหรับผู้พิการทางสายตา "แปลงเล่มให้เป็นไฟล์" ที่นำ IT Crowdsourcing มาเปิดโอกาสให้อาสาสมัครร่วมกันทำบุญ โดยแบ่งงานย่อยเป็นหน้าของหนังสือในหมวดต่างๆ มีทั้งที่เป็นแบบเรียนหรือหนังสือที่มีเนื้อหาดี ให้อาสาสมัครเลือกพิมพ์และส่งเข้าระบบ ช่วยลดระยะเวลาให้กับเจ้าหน้าที่สามารถจัดทำหนังสืออักษรเบรลเพื่อผู้พิการทางสายตาได้เร็วขึ้น เท่าที่ลองเข้าไปหลังทราบข่าวเปิดโครงการผ่านไปหนึ่งเดือน ทุกหมวด ทุกเล่มถูกเลือกไปพิมพ์หมด เพราะคนไทยใจบุญและพิมพ์เร็วมาก สำหรับหนังสือชุดใหม่เตรียมเปิดให้คนใจดีช่วยพิมพ์ได้อีกครั้งในต้นเดือนสิงหาคมนี้ ใครสนใจลองเข้าไปที่ http://www.1day1year.com/main.php "โครงการแปลงเล่มให้เป็นไฟล์"

รศ.ดร.วรากรณ์ ปิดท้ายในหนังสือได้อย่างน่าคิดว่า "ในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างเชื่อมโยงและพึ่งพากันมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ Crowdsourcing เป็นทั้งเครื่องยืนยันถึงปรากฏการณ์การพึ่งพาที่เกิดขึ้น และเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างประโยชน์ ทั้งในเชิงการค้าและการสร้างสวัสดิการสังคมได้อย่างสร้างสรรค์" ด้วยความชาญฉลาดในการใช้เทคโนโลยีผ่านเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยงสังคมให้ใกล้ขึ้น ลองมองไปรอบๆ เชื่อว่า คุณต้องเคยได้พบกับประสบการณ์ Crowdsourcing รอบด้านแน่ค่ะ

ที่มา :
วรากรณ์ สามโกเศศ. Live & Learn. กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊คส์, 2554.
http://en.wikipedia.org/
http://softganz.com
 
     
     
  คำสำคัญ (Keyword) : Crowdsourcing Crowdsource คำฮิตปี 2009 หลายหัวดีกว่าหัวเดียว จิตอาสา  
     
 
Rating : 4.43
 
     
 
ความเห็นที่ 1
 ความก้าวหน้าของการใช้สังคมออนไลน์ ทำให้เกิด Crowdsourcing
โดย panast (19 ตุลาคม 2555 13:22 น.)

ความเห็นที่ 2
 เป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีที่เกิดประโยชน์ ได้บุญด้วย
โดย Nutnicha (20 มกราคม 2556 17:04 น.)

ความเห็นที่ 3
 ตัวอย่างเห็นภาพชัดดีค่ะ
โดย Kanokwan (20 มกราคม 2556 19:05 น.)

ความเห็นที่ 4
 วิกิพีเดียน่าจะเป็นตัวอย่างที่มาผู้ใช้งานมากที่สุด แต่ถ้าของไทย บทความจะยังน้อยกว่าของภาษาอังกฤษมากนะ
โดย Nitchapn (20 มกราคม 2556 22:18 น.)

ความเห็นที่ 5
 พันทิป ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านคราวด์ซอส เช่น ห้องสัตว์เลี้ยงที่มีขอจิตอาสาช่วยทำงานยุ่งยากร่วมกัน
โดย Piyawun (20 มกราคม 2556 23:40 น.)

ความเห็นที่ 6
 สังคมของจิตอาสา สนับสนุนให้ร่วมทำดีมากๆ
โดย chaiyuth (11 มีนาคม 2556 15:42 น.)

 
     
  ต้อง Login ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้  
  เข้าหน้าหลักเพื่อสร้างบล็อกของคุณ (ต้อง Log In เข้าสู่ระบบก่อน)