หน้าแรกเข้าสู่ระบบเพื่อให้ความ
เห็นหรือสร้าง Blog ของคุณค้นหาตามเงื่อนไขDownload คู่มือการใช้งานติดต่อเรา

  เรื่อง รู้จัก Smart Soil  
  สร้างโดย : rujirat  
  สร้างเมื่อ : 25 กันยายน 2557   เวลา 16:42 น.   แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 25 กันยายน 2557   เวลา 16:42 น.      
  หมวดหมู่ : ด้านการจัดการความเสื่อมโทรมของที่ดิน  จำนวนผู้เข้าชม : 4383  
     
   
     
            เก็บมาฝากจากเว็บของ สวทช. เห็นเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัสดุทางการเกษตรที่มีคุณสมบัติที่เทียบเท่าดินที่ผ่านการหมักหมมตามธรรมชาติเป็นเวลานาน เผื่อมีผู้สนใจนำไปศึกษา ทดสอบว่า ใช้ในพื้นที่จริงแล้วดีหรือไม่ค่ะ


สมาร์ทซอยล์ (Smart Soil) เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม ของนักวิจัยห้องปฏิบัติการวัสดุนาโนเพื่อพลังงานและการเร่งปฏิกิริยา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่คิดแปรรูปผักตบชวาให้เป็นวัสดุทางการเกษตร ให้ชื่อว่าสมาร์ทซอยล์

แนวคิดคือ การนำผักตบชวาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในแม่น้ำลำคลอง และเป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในน้ำ ส่งผลกระทบให้พืชน้ำและสัตว์น้ำตาย เกิดน้ำเน่าเสียตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลำน้ำอื่นๆ ของประเทศไทย มาแปรรูปด้วยกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอไนเซชัน (Hydrothermal Carbonization) ให้เป็นวัสดุทางการเกษตรที่เป็นได้ทั้งวัสดุเพาะเมล็ด วัสดุปลูก และวัสดุปรับปรุงดิน ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก โดยกระบวนการดังกล่าวใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง สามารถช่วยร่นเวลาในการกำจัดผักตบชวาได้อย่างมาก และยังลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก จากการกำจัดผักตบชวาด้วยวิธีการเผาทำลายย ทำให้ได้สารปรับปรุงดินจากผักตบชวาที่มีธาตุอาหารเหมาะกับการเพาะปลูก และมีคุณสมบัติที่เทียบเท่าดินที่ผ่านการหมักหมมตามธรรมชาติเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี

          นอกจากนี้การใช้สารนาโนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้สมาร์ทซอยล์มีคุณสมบัติพิเศษที่ทั้งช่วยปรับปรุงให้ดินมีคุณสมบัติอุ้มน้ำ ช่วยทำให้ดินดูดซับและปลดปล่อยธาตุอาหารพืชได้ดี มีคุณภาพคล้ายดินแถบลุ่มน้ำอเมซอนที่มีธาตุอาหารสูงเหมาะกับการใช้เป็นวัสดุทางการเกษตร ด้วยเนื้อดินที่มีความโปร่งและเบา จึงช่วยการกระจายตัวของรากพืชได้ดี
ปัจจุบันโครงการแปรรูปผักตบชวาให้เป็นสารปรับปรุงดิน อยู่ระหว่างดำเนินการขยายกำลังการผลิต จากระดับห้องปฏิบัติการ เป็นระดับภาคสนาม โดยมีอัตราการแปรรูปผักตบชวาอยู่ที่ 8 ตันต่อวัน รวมถึงการพัฒนาระบบการผลิตในรูปแบบ เคลื่อนที่ได้ ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ณ พื้นที่เป้าหมาย เช่น ประตูระบายน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกจากผักตบชวา ทีมนักวิจัยฯ ยังมุ่งเน้นขยายไปที่วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ชานอ้อย เป็นต้น เพื่อนำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเล็งเห็งว่า หากประเทศไทยสนับสนุนการผลิตในโครงการลักษณะนี้มากขึ้น อาจเห็นพัฒนาให้สามารถแปรรูปและส่งออกวัสดุปลูกหรือดินที่แปรรูปจากวัชพืชและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้มากขึ้น ออกขายไปยังประเทศแถบทะเลทรายที่ยังต้องการดินหรือวัสดุปลูกพืชจำนวนมากในการเกษตร ซึ่งจะส่งผลดีให้งานวิจัยไทยสามารถสร้างรายได้และดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้ต่อไป

          เรียบเรียงจากหนังสือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (2557 : 47-48)
download ได้จาก http://www.nstda.or.th/pub/2014/20140404-sustainable-development.pdf
และข่าว Smart Soil ดินดำจากผักตบชวา http://www.nstda.or.th/news/15976--smart-soil-
ผู้สนใจหาข้อมูลเพิ่มเติม
 
     
     
  คำสำคัญ (Keyword) : Smart Soil ดินดำ ผักตบชวา แปรรูป วัสดุการเกษตร  
     
 
Rating : -
 
     
   
     
  ต้อง Login ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้  
  เข้าหน้าหลักเพื่อสร้างบล็อกของคุณ (ต้อง Log In เข้าสู่ระบบก่อน)