หน้าแรกเข้าสู่ระบบเพื่อให้ความ
เห็นหรือสร้าง Blog ของคุณค้นหาตามเงื่อนไขDownload คู่มือการใช้งานติดต่อเรา

  เรื่อง ข้อดีและข้อเสีย ของการใช้ปุ๋ยทางใบ (ปุ๋ยน้ำและปุ๋ยเกล็ด)  
  สร้างโดย : savangjt  
  สร้างเมื่อ : 4 ธันวาคม 2555   เวลา 15:33 น.   แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 4 ธันวาคม 2555   เวลา 15:35 น.      
  หมวดหมู่ : ด้านการจัดการทรัพยากรดิน  จำนวนผู้เข้าชม : 82949  
     
   
     
            ปุ๋ยทางใบ
ปุ๋ยทางใบ หมายถึง ปุ๋ยที่เป็นสารละลายแล้วฉีดพ่นทางใบเพื่อให้ธาตุอาหารแก่พืช
เนื่องจากรากพืชสัมผัสอยู่กับอนุภาคดินและสารละลายของดินโดยตรง รากจึงดูดธาตุอาหารได้ตลอดเวลาส่วนใบพืชอยู่ในอากาศ จะมีโอกาสดูดธาตุอาหารได้เฉพาะจากสารละลายที่มาสัมผัสใบเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ใบจึงได้รับธาตุอาหารตามธรรมชาติจากน้ำฝนและน้ำค้าง การฉีดพ่นปุ่ยทางใบให้แก่พืชเป็นการช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

ชนิดของปุ๋ยทางใบ
ปัจจุบันใช้ปุ๋ยทางใบมี 2 ชนิด
1)ปุ๋ยเกล็ด คือปุ๋ยเคมีชนิดแข็งที่มีสภาพเป็นรูปผลึกของสารประกอบ ผลิตจากการนำแม่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ มาผสมกับให้ได้สูตรที่ต้องการเป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำง่าย
2)ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยเหลว คือปุ๋ยที่ได้จากการละลายแม่ปุ๋ยในน้ำให้ได้สัดส่วนเป็นปุ๋ยสูตรต่าง ๆ โดยที่แม่ปุ๋ยจะถูกละลายได้ทั้งหมด วิธีใช้ปุ๋ยเพียงแต่นำมาเจือจางด้วยน้ำในอัตราที่พอเหมาะแล้วนำไปฉีดพ่นพืชได้ทันที

ข้อดีของการใช้ปุ๋ยทางใบ
1.ช่วยให้พืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากการย้ายปลูกและตั้งตัวได้แล้ว
2.ใช้กับอาการขาดธาตุอาหารในระยะแรก ๆ ได้ดี
3.ใช้ผสมกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลง และควบคุมวัชพืชได้เป็นการประหยัดแรงงาน
4.ใช้กับพืชที่ปลูกในดินที่มีปัญหา เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยวจัด ดินทรายจัด ดินเหนียวจัด หรือดินที่มีปัจจัยแวดล้อมขวางการดูดใช้ธาตุอาหารทางระบบราก
5.ใช้ในการเสริมธาตุหลัก คือ ไนโตรเจนในรูปปุ๋ยยูเรียและการใช้ธาตุรอง และธาตุอาหารเสริมแก่พืช
6.พืชสามารถดูดธาตุอาหารโดยทางใบได้มากกว่า และเร็วกว่าการดูดทางราก ต้นไม้จึงใช้ประโยชน์จากธาตุอาหารได้เร็ว
7.ช่วยให้พืชฟื้นตัวเร็ว หลักจากชะงักเนื่องจากกระทบแล้งหรือถูกโรคแมลงทำลาย
8.ปุ๋ยน้ำ มีความสม่ำเสมอของเนื้อปุ๋ยแน่นอนกว่าปุ๋ยชนิดแข็งและปุ๋ยเกล็ด มีปริมาณเนื้อปุ๋ยรวม (N+P2O5+K2O) สูงกว่าปุ๋ยเม็ดทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากกว่า
9.ปุ๋ยน้ำผลิตง่ายและเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสูตรได้ง่าย จึงผลิตได้มากสูตรกว่าปุ๋ยชนิดแข็ง
10.ง่ายต่อการขนส่งและการใช้

ข้อเสียของการใช้ปุ๋ยทางใบ
1.โดยทั่วไปการใช้ปุ๋ยทางใบเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะให้ธาตุอาหารแก่พืชได้อย่างเพียงพอในปริมาณที่เท่าเทียมกับปุ๋ยทางดิน เพราะถ้าให้ในระดับความเข้มข้นสูงเกินไปอาจทำให้พืชใบไหม้
2.การให้ปุ๋ยทางใบเพียงอย่างเดียวจะทำได้เฉพาะกับพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงมากเท่านั้น เพราะจะต้องให้ปุ๋ยบ่อยครั้งตามกำหนดเวลาอย่างสม่ำเสมอ
3.ปุ๋ยน้ำชนิดสารละลายไม่สามารถผลิตให้มีเกรดสูง ๆ ได้ โดยทั่วไปมักมีปริมาณของธาตุอาหารรวมของ (N+P2O5+K2O) ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์
4.ปุ๋ยเกล็ดมักมีคุณสมบัติดูดความชื้นจากอากาศได้ง่ายกว่าปุ๋ยเม็ด แม้จะมีการใส่สารป้องกันความชื้นแล้วก็ตามทำให้เสื่อคุณภาพเร็ว
5.ราคาต่อหน่วยของธาตุอาหารในปุ๋ยเม็ดและปุ๋ยเกล็ดเพราะโดยทั่วไปปุ๋ยน้ำจะมีเกรดต่ำกว่าปุ๋ยชนิดแข็ง
6.ราคาต่อหน่วยของธาตุอาหารในปุ๋ยเกล็ดสูงกว่าราคาต่อหน่วยของธาตุอาหารในปุ๋ยเม็ดมาก เพราะแม่ปุ๋ยที่ใช่ในการผลิตปุ๋ยผสมชนิดเกล็ดมีราคาแพงกว่าแม่ปุ๋ยที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเม็ด
7.ปุ๋ยน้ำละลายาตุอาหารเสริมและธาตุอาหารรองได้น้อย ยกเว้นปุ๋ยน้ำที่ใช้แม่ปุ๋ยในรูปของสารประกอบพวกโพลิฟอสเฟตและสารคีเลต
8.ปุ๋ยน้ำโดยทั่วไปจะควบคุมคุณภาพได้ยากกว่าปุ๋ยเม็ดและปุ๋ยเกล็ด

คุณสมบัติหรือลักษณะของปุ๋ยทางใบที่ดี
ปุ๋ยทางใบที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้
1.ปุ๋ยพืชที่มีสูตรสูง อย่างน้อยควรมีผสมรวมของ N+P2O3+K2O ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ สำหรับปุ๋ยน้ำและ 60 เปอร์เซ็นต์สำหรับปุ๋ยเกล็ด
2.ควรประกอบด้วยธาตุอาหารเสริมบางธาตุ หรือหลาย ๆ ธาตุนอกเหนือจากธาตุอาหารหลัก N-P-K
3.ควรเป็นปุ๋ยที่มีความเป็นกรดมากพอ ที่เมื่อนำไปละลายน้ำในระดับความเข้มข้น 0.25 – 0.30 เปอร์เซ็นต์ของตัวปุ๋ย (ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้อยู่ในประเทศไทย) จะได้ส่วนผสมของสารละลายปุ๋ยที่มีค่า pH ระหว่าง 4.5 – 6.0 ทั้งนี้เนื่องจากค่า pH ในช่วงดังกล่าวใบพืชจะสามารถดูดธาตุอาหารได้ดีและเร็วกว่าค่า pH ของปุ๋ยที่ต่ำหรือสูงกว่านี้
4.ปุ๋ยน้ำควรเป็นปุ๋ยประเภทสารละลายที่ไม่มีความดัน
5.ปุ๋ยเกล็ดความเป็นปุ๋ยที่สามารถละลายน้ำได้เร็วและละลายได้น้ำทั้งหมด
6.ปุ๋ยน้ำควรเป็นปุ๋ยที่ผลิตจากแม่ปุ๋ยฟอสฟอรัสในรูปของสารประกอบหรือสารละลายโพลิฟอสเฟต
7.ปุ๋ยเกล็ดควรอยู่ในรูปผลึกขนาดเล็ก ที่มีความบริสุทธิ์สูงได้ชื้นง่ายและไม่ควรมีค่าความชื้นมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์



          ข้อมูล : สำนักนิเทศและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน
ที่มา : สำนักนิเทศและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน
 
     
     
  คำสำคัญ (Keyword) :  
     
 
Rating : 4.25
 
     
 
ความเห็นที่ 1
 อยากให้เพิ่มภาพประกอบเป็นปุ๋ยชนิดต่างๆ ด้วยค่ะ
โดย Nutnicha (20 มกราคม 2556 16:32 น.)

ความเห็นที่ 2
 อยากทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 4.ปุ๋ยน้ำควรเป็นปุ๋ยประเภทสารละลายที่ไม่มีความดัน
หมายถึงอะไรคะ
โดย Kanokwan (20 มกราคม 2556 18:29 น.)

ความเห็นที่ 3
 ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ลองเสิร์ชดู เห็น MTEC มีบทความเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย อธิบายว่า สารแอมโมเนียมไนเตรตในเม็ดปุ๋ยระเหิด (ของแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซ) กลายเป็นก๊าซทันที และจุดเชื้อเพลิงให้ลุกไหม้ ก๊าซร้อนที่เกิดในเวลาสั้นเหล่านี้ทำให้เกิดคลื่นความดัน (pressure wave) อาจทำอันตรายต่อชีวิต วัตถุ สิ่งของต่างๆ โดยรอบ นอกจากนี้ ความร้อนสูงซึ่งเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ยังทำให้วัตถุโดยรอบไหม้ไฟได้ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดระบุว่า อำนาจการทำลายส่วนใหญ่มาจากคลื่นความดัน ดูที่ http://www.mtec.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=1748&Itemid=176
โดย Nitchapn (20 มกราคม 2556 21:46 น.)

ความเห็นที่ 4
 ต่อนะคะ เลยคิดว่าถ้าใช้ทั้งปุ๋ยเคมีที่มีสารตัวนี้อยู่แล้ว จะต้องระวังไม่ให้ปุ๋ยน้ำเป็นสาเหตุให้เกิดความดันดังกล่าว จะได้ไม่เกิดลิมิตหรือเปล่า
โดย Nitchapn (20 มกราคม 2556 21:47 น.)

ความเห็นที่ 5
 สงสัยเหมือนกัน รอข้อมูลเพิ่มเติมจากนักวิชาการด้านนี้
โดย Piyawun (20 มกราคม 2556 23:34 น.)

ความเห็นที่ 6
 
โดย chaiyuth (11 มีนาคม 2556 15:26 น.)

ความเห็นที่ 7
 ควรแก้ไขจุดที่พิมพ์ตก หัวข้อ-ข้อเสียของการใช้ปุ๋ยทางใบ
ข้อ 4 คำว่า เสื่อม
ข้อ 7 คำว่า ธาตุ
โดย chaiyuth (11 มีนาคม 2556 15:36 น.)

 
     
  ต้อง Login ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้  
  เข้าหน้าหลักเพื่อสร้างบล็อกของคุณ (ต้อง Log In เข้าสู่ระบบก่อน)