หน้าแรกเข้าสู่ระบบเพื่อให้ความ
เห็นหรือสร้าง Blog ของคุณค้นหาตามเงื่อนไขDownload คู่มือการใช้งานติดต่อเรา

  เรื่อง เทคนิคการเลือกซื้อปุ๋ยที่คุ้มค่า  
  สร้างโดย : savangjt  
  สร้างเมื่อ : 4 ธันวาคม 2555   เวลา 15:26 น.   แก้ไขล่าสุดเมื่อ : 4 ธันวาคม 2555   เวลา 15:35 น.      
  หมวดหมู่ : ด้านการจัดการทรัพยากรดิน  จำนวนผู้เข้าชม : 6935  
     
   
     
            ปุ๋ยคือ วัสดุที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบหรือสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดธาตุอาหารพืช เมื่อใส่ลงไปในดินแล้วจะปลดปล่อยหรือสังเคราะห์ธาตุอาหารที่จำเป็นให้แก่พืช ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงจึงต้องการธาตุอาหารพืชเพิ่มเติมจากปุ๋ยน้อยกว่าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
ปุ๋ยแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้

1.ปุ๋ยเคมี คือ สารประกอบอนินทรีย์ที่ให้ธาตุอาหารพืช เป็นสารประกอบที่ผ่านกระบวนการผลิตทางเคมี เมื่อใส่ลงไปในดินที่มีความชื้นที่เหมาะสมจะละลายให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว
2.ปุ๋ยอินทรีย์ คือ สารประกอบที่ได้จากสิ่งมีชีวิตได้แก่ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ ฯลฯ ผ่านกระบวนการผลิตทางธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ร่วนซุย ระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี รากพืชชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่าย
ปุ๋ยอินทรีย์มี 3 ประเภท คือ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด
ปุ่ยอินทรีย์มีปริมาณธาตุอาหารพืชน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี และธาตุอาหารพืชส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ไนโตรเจนอยู่ในสารประกอบจำพวกโปรตีน เมื่อใส่ลงไปในดินพืชจะไม่สามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในดิน แล้วปลดปล่อยธาตุอาหารเหล่านั้นออกมาในรูปสารประกอบอนินทรีย์ เช่นเดียวกันกับปุ๋ยเคมีจากนั้นพืชจึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้
3.ปุ๋ยชีวภาพ คือ ปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีคุณสมบัติพิเศษ สามารถสังเคราะห์สารประกอบธาตุอาหารพืชได้เอง หรือสามารถแปลี่ยนธาตุอาหารพืชที่อยู่ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช ให้มาอยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้
ปุ๋ยชีวภาพแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสังเคราะห์สารประกอบธาตุอาหารพืชไนโตรเจนได้เอง ได้แก่ ไรโซเบียมที่อยู่ในปมรากพืชตระกูลถั่ว แฟรงเคียที่อยู่ในปมของรากสนทะเล สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อยู่ในโพรงใบของแหนแดงและยังมีจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินอย่างอิสระอีกมากที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้แก่พืชได้เช่นกัน และอีกประเภทหนึ่ง คือ กลุ่มจุลินทรีย์ที่ช่วยทำให้ธาตุอาหารพืชในดินละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น เช่นไมคอร์ไรซาที่ช่วยให้ฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงอยู่ในดินละลายออกมาอยู่ในรูปที่พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้
4.ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการผลิตการผลิตที่ใช้อุณหภูมิสูงถึงระดับที่สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทั้งที่เป็นโรคพืช โรคสัตว์ และโรคมนุษย์รวมทั้งจุลินทรีย์ทั่ว ๆ ไปด้วย จากนั้นจึงนำจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยชีวภาพที่เลี้ยงไว้ในสภาพปลอดเชื้อมาผสมกันกับปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าว และทำการหมักต่อไปจนกระทั่งจุลินทรีย์ที่ใส่ลงไปในปุ๋ยหมักมีปริมาณคงที่จุลินทรีย์เหล่านี้นอกจากจะช่วยตรึงไนโตรเจนให้แก่พืชแล้ว ยังช่วยผลิตสารฮอร์โมนพืชเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของรากพืช และจุลินทรีย์บางชนิดยังสามารถควบคุมโรคพืชในดินและกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อีกด้วย

การเลือกซื้อปุ๋ยที่คุ้มค่า
เกษตรกรโดยทั่วไปมักตัดสินใจในการเลือกซื้อปุ๋ยโดยมักพิจารณาจากราคาต่อกระสอบเป็นหลัก กระสอบเท่า ๆ กัน กระสอบใดถูกกว่าก็มักเลือกซื้อ ปุ๋ยกระสอบนั้น วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การเลือกซื้อปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าจะต้องได้ธาตุอาหารพืชคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายซื้อปุ๋ย ให้ใช้วิธีการคำนวณเปรียบเทียบราคาของปุ๋ยต่อน้ำหนักธาตุอาหารพืช 1 หน่วย (กก.) ตัวอย่างเช่น
1. การเปรียบเทียบราคาปุ๋ย 46-0-0 และปุ๋ย 21-0-0
(1) ปุ๋ย 46-0-0 ราคาตันละ 13,400 บาท
(2) ปุ๋ย 21-0-0 ราคาตันละ 8,000 บาท

วิธีคำนวณ
(1) ปุ๋ย 46-0-0 หมายความว่า
ปุ๋ย 1,000 กก. มีไนโตรเจน 460 กก.
ราคา = 13,400 บาท
เพราะฉะนั้นไนโตรเจน 1 กก.
ราคา = 13,400/460 = 29.10 บาท

(2) ปุ๋ย 21-0-0 หมายความว่า
ปุ๋ย 1,000 กก. มีไนโตรเจน 210 กก.
ราคา = 8,000 บาท
เพราะฉะนั้นไนโตรเจน 1 กก.
ราคา = 8,000/210 = 38.10 บาท
ดังนั้น ปุ๋ย 21-0-0 จึงมีราคาแพงกว่าปุ๋ย 46-0-0

2.การเปรียบเทียบราคาปุ๋ย 15-15-15 และปุ๋ย 16-20-0
(1) ปุ๋ย 15-15-15 ราคาตันละ 12,000 บาท
(2) ปุ๋ย 16-20-0 ราคาตันละ 11,000 บาท
วิธีคำนวณ
(1) ปุ๋ย 15-15-15 หมายความว่า
ปุ๋ย 1,000 กก. มีไนโตรเจน 450 กก.
ราคา = 13,400 บาท
เพราะฉะนั้นไนโตรเจน 1 กก.
ราคา = 12,000/450 = 26.60 บาท

(2) ปุ๋ย 16-20-0 หมายความว่า
ปุ๋ย 1,000 กก. มีไนโตรเจน 360 กก.
ราคา = 11,000 บาท
เพราะฉะนั้นไนโตรเจน 1 กก.
ราคา = 11,000/360 = 30.50 บาท
ดังนั้น ปุ๋ย 16-20-0 จึงมีราคาแพงกว่าปุ๋ย 15-15-15

3. การคำนวณราคาธาตุอาหารพืชในปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยอินทรีย์ (2-1-1) ราคาตันละ 3,000 บาท
วิธีคำนวณ
ปุ๋ยอินทรีย์ 1,000 กก. มีธาตุอาหารพืช 40 กก.
ราคา = 3,000 บาท
เพราะฉะนั้นธาตุอาหารพืช 1 กก.
ราคา = 3,000/40 = 75 บาท
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อหน่วยธาตุอาหารพืชปุ๋ยอินทรีย์จะมีราคาแพงกว่าปุ๋ยเคมี ส่วนธาตุอาหารทั้งหมด 40 กก. ในปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตันพืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งหมดได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์เปลี่ยนจากรูปอินทรีย์สารเสียก่อนพืชจึงดูดไปใช้ได้ ซึ่งอัตราย่อยสลายนี้ช้ามาก ปุ๋ยอินทรีย์จึงปลดปล่อยธาตุอาหารพืชออกมาในปีแรกเพียงร้อยละ 12-20





          ข้อมูล : คู่มือสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ธรรมชาติของดินและปุ๋ย ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทร์ ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์
ที่มา : http://www.ldd.go.th/menu_Dataonline/G7/G7_08.pdf
 
     
     
  คำสำคัญ (Keyword) :  
     
 
Rating : 4.20
 
     
 
ความเห็นที่ 1
 แสดงว่าการใช้ปุ๋ย ต้องวางแผนล่วงหน้าในการใช้ให้เหมาะสม ผสมผสานกันไปใช่ไหมคะ
โดย Nutnicha (20 มกราคม 2556 16:31 น.)

ความเห็นที่ 2
 ดีค่ะ เพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ ใส่แล้วต้องคุ้ม ต้นทุนจะได้ไม่สูงกว่าที่ควรจะเป็น
โดย Kanokwan (20 มกราคม 2556 18:29 น.)

ความเห็นที่ 3
 คิดว่าต้องคำนวณค่ะ เพราะต้องคำนึงถึงอัตราการย่อยสลายที่ปุ๋ยอินทรีย์จะปลดปล่อยธาตุอาหารพืชออกมาในแต่ละช่วงด้วย
โดย Piyawun (20 มกราคม 2556 23:36 น.)

 
     
  ต้อง Login ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้  
  เข้าหน้าหลักเพื่อสร้างบล็อกของคุณ (ต้อง Log In เข้าสู่ระบบก่อน)